แผนงาน "ใต้ร่มพระบารมี" มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประกาศรับข้อเสนอโครงการ ขับเคลื่อนและขยายผล งานใต้ร้มพระบารมีสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน

หลักการและเหตุผล

        ตามยุทธศาสตร์ใต้ร่มพระบารมีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีรามงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ได้ดำเนินการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ร่มพระบารมี โดยยึดหลักการดำเนินงานภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนความเป็นอยู่ การพัฒนาอาชีพให้กับกลุ่มคนทุกช่วงวัย และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา บนฐานรากการพัฒนาและขับเคลื่อนงานวิชาการเพื่อการใช้ประโยชน์จริง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผ่านกลไกการสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิโครงการหลวง โรงงานหลวง โครงการพระราชดำริฯ และศูนย์จักรพันธุ์เพ็ญศิริ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการใต้ร่มพระบารมีนั้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จึงได้นำองค์ความรู้ และทักษะความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม พลังงานสิ่งแวดล้อมเพื่องานเกษตรกรรม และการพัฒนาพันธุกรรมของศูนย์จักรพันธ์เพ็ญศิริ มาเป็นกลไกและเครื่องมือในการขับเคลื่อนโครงการและการนำองค์ความรู้มาพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสม เท่าทัน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆได้อย่างทันท่วงที และการพัฒนาหลักสูตร องค์ความรู้เพื่อสร้างทักษะวิชาชีพเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายคนทุกช่วงวัยและทุกมิติ ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ในยุทธศาสตร์แห่งชาติได้ระบุและมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคนเชิงคุณภาพในทุกช่วงวัย ตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์ ปฐมวัย วัยเด็ก วัยรุ่น วัยเรียน วัยผู้ใหญ่ วัยแรงงาน และวัยผู้สูงอายุ เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีทักษะความรู้ เป็นคนดี มีวินัย เรียนรู้ได้ด้วยตนเองในทุกช่วงวัย มีความรอบรู้ทางการเงิน มีความสามารถในการวางแผนชีวิตและการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า รวมถึงการพัฒนาและปรับทัศนคติให้คนทุกช่วงวัยที่เคยกระทำผิดได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสงบสุขและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศซึ่งการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ดำเนินงานไปแล้วนั้นได้อาศัยพื้นที่ มทร.ล้านนาทั้ง 6 เขตพื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก พิษณุโลก และลำปาง เพื่อเป็นฐานและกระจายการทำงานตามฐานการใช้พื้นที่ (Area Based) และฐานการใช้เทคโนโลยี (Technology Based) โดยมีผลดำเนินการสนับสนุนงานวิจัย การบริการวิชาการ และการบริหารจัดการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา และโครงการใต้ร่มพระบารมีอย่างต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการมาใช้ร่วมกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัฒนธรรมของท้องถิ่นและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ (Re-skill/Up-skill) ให้กับคนทุกช่วงวัยและบุคลากรในพื้นที่สูง ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้มุ่งเน้นในการพัฒนาสร้างคนในพื้นที่ให้มีทักษะและองค์ความรู้ทางด้านอาชีพทางเลือกเพื่อการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยการส่งเสริม ให้ความรู้ และทักษะอาชีพ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และการสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจถึงปัญหา และการแก้ปัญหาซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้จะนำไปสู่แนวทางแก้ไข มาตรการ การพัฒนา และการสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ และการบูรณาการภารกิจอุดมศึกษาด้านการเรียน การวิจัย และการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประโยชน์สาธารณะ และเกิดเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานร่วมกันในด้านบุคลากร ความเชี่ยวชาญ เครื่องมือ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย และความสำนึกรักษ์ท้องถิ่นของตนเอง ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมาข้างต้นยังสามารถนำมาเป็นต้นแบบหรือแนวทางการพัฒนาที่เน้นการฝึกทักษะ (hands on) ของผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) การบูรณาการทรัพยากรเชิงพื้นที่และบุคลากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อตอบโจทย์และปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้และเน้นการพึ่งพาตนเองได้และสามารถต่อยอดความรู้ความสามารถให้ได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ พัฒนาองค์ความรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการใช้ประโยชน์จริง
  2. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพที่เหมาะสมต่อการสร้างรายได้/ลดรายจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมาย (Re-skill/Up-skill)
  3. เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีและทักษะวิชาชีพที่มีความเหมาะสมต่อคนทุกช่วงวัย
  4. เพื่อพัฒนาอาจารย์ บุคลากร นักวิจัย ให้ได้ทำงานเพื่อตอบโจทย์โครงการใต้ร่มพระบารมีสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน